อนามัยโลกย้ำวัคซีน mRNA มีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงหัวใจอักเสบ
WHO เผยมีความสัมพันธ์ที่เป็นไปได้ระหว่างวัคซีน mRNA กับภาวะหัวใจอักเสบที่เกิดขึ้นได้ยาก แต่วัคซีนมีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยง
คณะกรรมการด้านความปลอดภัยในการใช้วัคซีนขององค์การ?อนามัยโลก (GACVS) เผยว่า หลังจากทบทวนข้อมูลทั้งหมด มีความสัมพันธ์เชิงสาเหตุที่เป็นไปได้ระหว่างวัคซีนป้องกัน Covid-19 ที่ใช้เทคโนโลยี mRNA กับการอักเสบของหัวใจที่เกิดขึ้นได้ยากมาก ทว่าประโยชน์ของวัคซีน mRNA มีมากกว่าความเสี่ยงดังกล่าว เนื่องจากสามารถลดการเข้ารักษาในโรงพยาบาลและการเสียชีวิต
แถลงการณ์ของ GACVS ระบุว่า หลายประเทศโดยเฉพาะสหรัฐรายงานการพบภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (myocarditis) และเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ (pericarditis) ซึ่งมักจะเกิดขึ้นภายในไม่กี่วันหลังฉีดวัคซีนชนิด mRNA และมักเกิดขึ้นกับคนวัยเด็กเพศชาย และมีโอกาสเกิดมากขึ้นหลังรับวัคซีนเข็มที่ 2
คณะกรรมการระบุอีกว่า เคสหัวใจอักเสบและเยื้อหุ้มหัวใจอักเสบมีอาการไม่รุนแรงและต้องการเพียงการรักษาแบบประคับประคองเท่านั้น โดยขณะนี้องค์การอนามัยโลกกำลังติดตามสังเกตผลข้างเคียงระยะยาวที่อาจเกิดขึ้น ก่อนหน้านี้ไม่กี่วัน คณะกรรมการที่ติดตามผลข้างเคียงของยาขององค์การยาแห่งสหภาพยุโรป (EMA) ก็พบความสัมพันธุ์เชิงสาเหตุที่เป็นไปได้นี้เช่นเดียวกัน
เมื่อเดือนที่แล้วศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐ (CDC) เตือนว่ามีความเชื่อมโยงระหว่างวัคซีนชนิด mRNA อาทิ วัคซีนของ Pfizer และ Moderna กับภาวะหัวใจอักเสบในกลุ่มวัยรุ่น แต่ก็ย้ำเช่นกันว่าวัคซีนมีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยง ทั้งนี้ ภาวะหวใจอักเสบเป็นโรคที่เกิดขึ้นได้ยาก โดยผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่ามีไวรัสเป็นตัวกระตุ้น ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บหน้าอก และมักจะรักษาด้วยยาต้านการอักเสบ หรือบางเคสอาจได้รับออกซิเจนเพิ่ม